วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โอโม่&สไปเดอร์ กระรอกเผือกแสนซน

     ขึ้นชื่อว่า "กระรอกเผือก" หลายๆคนคงคิดว่าเค้าจะสีขาวตั้งแต่เด็กๆ จริงๆแล้วไม่เลยครับ  ช่วงเล็กๆเจ้ากระรอกเผือกจิ๋วพวกนี้จะสีออกน้ำตาลอ่อนๆแลดูสวยเลยทีเดียว  ผมได้มีโอกาศเลี้ยงเจ้ากระรอกเผือกชมพู ที่น่ารักสองตัวนี้โดนสั่งซื้อมาจากร้านสัตว์เลี้ยงที่มหาสารคามครับ  รับมาเลี้ยงเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมานี้เองครับ  โดยเป็นคู่ตัวผู้และตัวเมีย  แต่มันไม่ใช่ของผมทั้งหมดนะครับ  พอดีมีพี่ชายที่สนิทกันพอสมควรนำมาฝากผมเลี้ยงอีก 1 ตัวนั้นเอง ก็ซื้อมาพร้อมกันนั้นแหละนะ
      เริ่มแรกเลยที่นำมาผมนำเจ้าสองตัวนี้มาอบไฟอยู่ในกล่องเป็นอาทิตย์ๆเลยทีเดียว ตอนที่นำเจ้าตัวน้อยมาก็อายุน่าจะเกือบเดือนได้แล้ว เพราะตาเปิดใกล้เต็มตาแล้ว  ผมป้อนอาหารโดยใช้ดรอปเปอร์ เหมือนเจ้ากาโม่เลย แต่ป้อนด้วยนมแพะกระป๋องก่อนนะ เพราะทางร้านบอกว่าเลี้ยงด้วยนมแพะมาถ้าให้ซีรีแล็คแต่แรกเลยท้องเสียแน่นอน
ผมก็ดันหัวดื้อซะด้วยรองไปซะ ท้องเสียจริงด้วย อิอิ สมน้ำหน้าเลย เลี้ยงนมแพะได้2อาทิตย์ก็เอา ซีรีแล็คมาเสริม อาจเป็นเพราะอย่างนั้นเจ้าตัวน้อยทั้ง 2 เลยโตไวมากๆเลย

    พอเลี้ยงได้สัก 3-4 อาทิตย์ ก็ย้ายเข้าไปไว้ในกรงเลยที่เดียวเชียว แต่ยังเปิดไฟหลอดส้มอบไว้อยู่นะครับ  นอนกอดกันกลมเชียว เจ้ากระรอกเผือกพวกนี้เป็นตัวแทนของ กาโม่ ที่หายไปเลยผมรู้สึกสนุกที่ได้เลี้ยงดูมันมากเลย
    ตัวผู้เป็นกระรอกของพี่ที่รู้จักกันแกตั้งชื่อมันว่าสไปเดอร์ เจ้านี้ตอนเด็กๆซุกซนมากๆเลยครับ  ชอบป่วนน้องสาวเป็นประจำ
    ตัวเมียเป็นลูกสาวของผมเองเพื่อให้เข้ากับกาโม่ มันจึงได้ซื่อว่าเจ้า โอโม่ ก็ตอนโต เค้าจะเป็นสีขาวนี่นา ตอนเล็กๆนี่โอโม่จะนิ่งมากๆเลยครับกินกับนอนอย่างเดียวเลย อิอิ




     เอาล่ะพอเริ่งแข็งแรงพอแล้วก็กินแอ๊ปเปิลได้เลย  แล้วก็คอ่ยเอาเค้ามารับแสงแดดยามเช้าเพื่อให้ขนสวยงาม อร่อยกันใหญ่เชียวนะ โอโม่ สไปเดอร์  สังเกตุดีๆสีที่ขนเปลี่ยนไปแล้วนะครับ  เริ่มขาวขึ้นแล้ว  ก็เลี้ยงมาได้ 4-5 อาทิตย์แล้วเนาะ!!!







     นอนอาบแดดชิวกันเลยทีเดียว ช่วงนี้ โอโม่ เริ่มออกลายแล้ว ซูกซนใช่เล่นเลย กลายเป็นว่ามีเจ้าตัวดื้อเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัว โตไวเหมือนกันนะเนี่ยเผลอแป๊ปเดียวเอง








     นั้นไงไม่ทันขาดคำเจ้า โอโม่ ขโมยถุงเท้าผมซะแล้ว เอา่ไปทำรังนอนในกรงด้านบน  ตัวนึงเอาขึ้นไป อีกตัวนึงก็ช่วยดึงเข้าเชียว  น่ารักกันเหลือเกินนะ  เวลาที่ผมว่างๆอยู่ห้องก็มักจะปล่อยให้เค้าวิ่งเล่นอย่างอิสระเสอมๆ โดยนำกิ่งไม้มาวางพิงกำแพงไว้สูงพอควร แล้วนำกรงไปมัดติดไว้ด้านบนครับ


















     ผมคิดว่าการที่เราให้เค้าวิ่งเล่นในห้องเป็นการให้เค้าได้ออกกำลังกายอย่างดีและช่วยให้เค้าโตไวด้วยครับ
     ก็เอาเป็นว่าจะนำเรื่องราวของเจ้าโอโม่และสไปเดอร์มานำเสนอต่อภายหลังแล้วกันนะครับเพราะเท่าที่เลี้ยงมาก็มีข้อมูลเท่านี้แหละครับ  ขอขอบคุณที่เสียเวลามานั่งอ่านกันนะครับ


วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กระรอกตัวแรกของฉัน (กาโม่)

กาโม่ เป็นชื่อของเจ้าตัวน้อยตัวแรกของผมนับว่าเป็นลูกชายสุดรักของผมเลยก็ได้ ผมซื้อเค้ามาจากงานกาชาดที่มหาสารคามเมื่อปี พ.ศ.2553 เลี้ยงมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ



     กาโม่เป็นกระรอกสวนเพศผู้อายุเกือบๆเดือนได้มั้งนะ  ผมก็ไม่แน่ใจ กระรอกเป็นสัตว์ที่ผมคิดอยากเลี้ยงมานานมากแล้วตามหาซื้อมาตั้งแต่เด็กๆเลยครับ  ผมเพิ่งมีโอกาศไปเจอร้านขายกระรอกครั้งแรกที่งานกาชาดที่มหาสารคามตอนที่ผมเรียนอยู่ปี 2 ที่มหาลัย'มหาสารคาม         
     

      ผมเลี้ยงกาโม่ด้วยซีรีแล็คสูตรแรกเริ่ม โดยการใช้ดรอปเปอร์เป็นตัวป้อน  กว่าจะโตใช้เวลานานพอดูเลยครับ ช่วงนั้นเหนื่อยมากๆ  บางคนก็บอกว่าเลี้ยงมันทำไมมันเป็นภาระ  แต่ผมคิดว่ามันเป็นภาระที่ผมภูมิใจและเต็มใจที่จะลำบาก เพื่อเห็นพัฒนาการของเจ้าตัวเล็กนี่  พอได้เห็นมันมีความสุขแล้วก็ทำให้เราอดยิ้มไม่ได้ทุกทีเลยล่ะครับ




      พอเจ้ากาโม่โตได้สักหน่อยก็เอามานอนบนฟูกด้วยเลย มันก็เลยเป็นโรคติดคนอย่างเห็นได้ชัด และเชื่องมากๆซะด้วยสิ  แต่ก็กลัวนอนทับเค้าอยู่นะ อิอิ ที่สำคัญช่วงแรกๆกาโม่ฉี่รดที่นอนบ่อยมากๆ  แล้วที่สำคัญไปกว่านั้น เค้าตื่นเช้ามากครับ ตื่นตัวเดียวไม่พอมาปลุกเราซะอีก อิอิ  เรียกได้ว่าเค้าตื่นเราต้องตื่น ถ้าวันไหนอยากนอนต่อต้องจับเจ้าขี้ดื้อเข้ากรงก่อนเลยทีเดียว
      กาโม่เป็นกระรอกที่เชื่ืองมากเลยครับ  ขนาดที่ว่าผมพาขึั้นต้นไม้ได้โดยไม่ต้องล่ามโซ่เลย เวลาพาขึ้นต้นไม้ปล่อยเค้าวิ่งเล่นได้ตามสบายเลย  พอถึงเวลาก็ปีนขึ้นไปเอาเค้าลงมา  ถ้าวันไหนซนจนหมดแรงแล้วแค่เรียกชื่อก็ลงมาเองแล้วครับ  แสนรู้จริงๆเลยน้า !!! เจ้าลูกชายตัวนี้นี่



ปีนป่ายซะสนุกเชียวนะกาโม่  ผมให้เค้าขึ้นบนต้นตะขบครับเพราะเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของเค้าเลย  นอกจากจะได้วิ่งเล่นอย่างสนุกแล้ว  ยังได้เก็บผลไม้สดๆกินเองกับมืออีกด้วย  เจ้า กาโม่ จึงมีความสุขและแข็งแรงนั้นเอง
        แต่ทว่านิทานเรื่องนี้ไม่ได้จบลงอย่างมีความสุขครับ  ตอนนั้นผมอยู่ปี 3 เทอม 2 ( พ.ศ.2554 ) ผมก็ต้องลาจากกับกาโม่ซะแล้วด้วยอุบัติเหตุที่เกินจะคาดเดา  เนื่องจากกาโม่เชื่องมากจนเกินไป  ผมจึงไม่เคยคิดจะล่ามโซ่เค้าเลย  วันนั้นเองที่ผมพา กาโม่ เกาะไหล่เดินออกจากบ้านในยามเย็นเพื่อไปเก็บผักบุ้งข้างทางด้วยกัน ( ณ บ้านดอนนา มหาสารคาม ) วันนั้นมีรถกระบะคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความแรง พุ่งเข้าใส่ทางลูกระนาดสุดแรงจนเกิดเป็นเสียงดังสนั่น  เจ้ากาโม่ที่ตกใจถึงขีดสุดได้กระโดดจากไหล่ผมหายเข้าไปในป่าหญ้าที่สูงท่วมหัว และหายไปในที่สุด - -* ผมเสียใจมากๆเลยครับ ผมพยามตามหาทุกทางในระแวกนั้นแต่ก็ไม่มีวี่แววของกาโม่อีกเลย สุดท้ายผมก็เสียกาโม่ไปตลอดกาล





นี่เป็นวิดีโอของกาโม่ที่ยังเหลืออยู่ครับ มันเห่าเก่งด้วยนะ  ^_^

เพศกระรอก



<< จากภาพ:  แสดงให้เห็นความแตกต่างกระรอกเพศผู้และเพศเมีย
ตัวเมียด้านขวา  อวัยวะเพศจะอยู่ต่ำกว่าใกล้ทวารหนัก
ตัวผู้อวัยวะเพศจะอยู่ด้านล่างและสูงขึ้นไปใกล้สะดือ







วิธีให้ความอบอุ่น
หากคุณพบกระรอกตัวเล็ก ๆ ให้รีบนำมันมาไว้ในที่อบอุ่น กระรอกแรกเกิดนั้นควรอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 37.5-38.5 องศา วิธีให้ความอบอุ่นแก่ลูกกระรอกนั้นทำได้โดย

1. ใช้ไฟดวงเล็ก ๆ 3-5 วัตต์ ช่วยในการให้ความอบอุ่นได้ และต้องไม่ลืม เรื่องความชื้น โดยอาจวางอ่างน้ำเล็ก ๆ ไว้รอบข้างดวงไฟ แล้วคลุมด้วยตระแกรงเหล็กด้านบนเพื่อกั้นไม่ให้ผ้าสัมผัสกับดวงไฟ เพราะถ้าผ้าเกิดสัมผัสกับดวงไฟที่ร้อนโดยตรง อาจทำให้มันหลอมละลาย และ เกิดไฟไหม้ได้ เสร็จแล้วให้เราวางผ้าทับอีกทีชั้น เพื่อให้ความอบอุ่นสะสมอยู่ในผ้าหนา ๆ หน่อยก็ได้นะคะ มันจะได้ขยับตัวซุกตามความอบอุ่นที่มันต้องการ หมั่นเติมน้ำอย่าให้น้ำด้านล่างแห้ง และอย่าลืมเรื่องอากาศถ่ายเทบ้างนะคะ วางผ้าให้ความอบอุ่น แต่ก็มีที่ๆ อากาศถ่ายเทด้วย

2. อาจใช้ถุงน้ำร้อนวางไว้ด้านล่าง แล้วใส่ผ้าด้านบน แต่วิธีนี้ต้องคอยเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เพราะสัก 3-4 ชั่วโมง น้ำก็เริ่มไม่อุ่นแล้ว ซึ่งทำได้ยาก และคุณอาจไม่ได้หลับได้นอนเลย อาจใช้ในกรณีที่ต้องเดินทางหรือจำเป็นต้องพกพากระรอกไปไหนเท่านั้น (กรณีต้องไปโรงพยาบาล, หรือต้องเอาไปไหนด้วยเพื่อป้อนอาหาร)

3. หากหาอุปกรณ์ไม่ได้จริงๆ ก็ใช้กล่องเปล่าเฉย ๆ และใส่ผ้าไว้ในนั้น แต่บางครั้งที่อากาศหนาวเย็นมาก อุณหภูมิภายในกรงที่ให้เค้าอยู่ จะต่ำเกินไป จึงจำเป็นต้องให้ความอบอุ่นเพิ่มด้วย

4. อีกวิธีใส่กล่องแล้ววางไว้บริเวณด้านหลังของตู้เย็น ตู้เย็นทำหน้าทีให้ความเย็น แต่ด้านหลังของมันก็อบอุ่นทีเดียว แต่ต้องใส่ภาชนะให้มีพื้นที่สำหรับเค้าแล้ววางไว้ด้านหลัง จะขยับย้ายที่ตามตำแหน่งที่เค้าต้องการ ถ้าร้อนเกินไปเค้าก็จะขยับออกห่างออกมาเอง ถ้าหนาว เค้าก็จะขยับเข้าไปซุกตรงที่อบอุ่นกว่า
และต้องระวังเรื่องมดและแมลง และสัตว์อืื่น ๆ ที่จะมารบกวนได้นะคะ

ทุกวิธีต้องกรักษาความสะอาด และเปลี่ยนผ้าหรือกระดาษทิชชู่อยู่เสมอ ต้องไม่ให้ผ้าเปียกชื้น และคอยควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 37.5-38.5 เพราะถ้าร้อนหรือเย็นเกินไป ลูกกระรอกอาจป่วยและเสียชีวิตได้


การให้อาหารลูกกระรอก

1. ให้นมถั่วเหลืองปลอดภัยที่สุด  พวกแลคตาซอย ไวตามิลด์ ให้นมอย่างนี้อย่างเดียวได้จนลืมตา และกินผลไม้เลยค่ะ ส่วนซีรีแล็คบางคนก็ว่าใช้ได้ แต่เคยใช้แล้วไม่แนะนำนะคะ เพราะเหมือนมันจะกินแล้วท้องอืดยังไงไม่รู้
2. เวลาป้อนอาหารอย่าป้อนเร็วเกินไป ป้อนทีละหยด ด้านข้างของปากก็ได้ แล้วให้เค้าเลียอาหารเข้าไปเอง หรือจะใช้สริงค์เล็ก ๆ ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาและให้เค้าใช้ปากดูดเข้าไปทีละน้อยตามจังหวะของเค้าเอง ดูวิธีป้อนอาหารตามตัวอย่างในภาพด้านล่างนะคะ   อย่าฉีดอาหารเข้าไปอย่างรวดเร็ว  เพราะจะทำให้กระรอกสำลัก ทำให้เป็นปอดบวมได้ และถ้าให้เยอะเกินไปกระรอกก็อาจจะท้องอืด และตายได้เหมือนกัน
3. ต้องให้อาหารบ่อย ๆ แต่ทีละน้อย ในกรณีลูกกระรอกเล็กอยู่ บางครั้งจะหิว และร้องตลอดเวลา ถ้าไม่ได้กินจะเกิดอาการเครียด และถ่ายเป็นฟอง
4. ห้ามให้นมวัว  จะทำให้กระรอกท้องเสีย และตายได้ บางครั้งถ้าจำเป็นจะให้ก็ต้องเจือจางกับน้ำ
5. กรณีที่มีลูกกระรอกหลายตัว อย่าปล่อยให้หิว ต้องคอยดูตลอด เพราะถ้าเราไม่อยู่หรือปล่อยให้หิว อะไรอยู่ข้าง ๆ มันจะคิดว่าเป็นแม่มันหมด บางทีหิวขึ้นมาอีกตัวอยู่ใกล้ ๆ ก็จะถูกดูดจนเป็นจ้ำ ๆ  และช้ำตายได้เลยค่ะ ดังนั้นถ้าให้ปลอดภัย ควรแยกแต่ละตัวไว้คนละที่กัน แต่กรณีที่สามารถป้อนได้บ่อยครั้ง ก็รวมไว้ในที่เดียวกันก็ได้ค่ะ กระรอกจะได้อยู่กันอย่างอบอุ่น และเลี้ยงรวมกันได้เมื่อโตขึ้นด้วย

6. เวลาให้อาหารเสร็จต้องคอยรักษาความสะอาด เปลี่ยนผ้าบ่อย ๆ  การใช้ทิชชู่แทนผ้าก็ทำให้สะดวกขึ้นในการทำความสะอาด ใช้ปลายสำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณปากไม่ให้มีคราบอาหาร
7. บางครั้งต้องกระตุ้นลูกกระรอกในการขับถ่ายด้วย ทุกครั้งหลังอาหารใช้ปลายสำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณทวาร เบา ๆ  วิธีนี้จะทำให้ลูกกระรอกขับถ่ายออกมาได้ หากทวารแห้งและกระรอกไม่ขับถ่าย ลูกกระรอกอาจเสียชีวิตได้



หมายเหตุ : กรณีกระรอกไม่สบาย และต้องการพาไปหาสัตวแพทย์ ให้ไปที่โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตร จะดีที่สุดนะคะ เพราะที่นั่นมีคลีนิคสำหรับสัตว์พิเศษด้วย   ก็คือ สัตว์อื่น ที่ไม่ใช่หมา แมว  (โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เลขที่ 50 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร. 0-2942-8756-9)

พัฒนาการลูกกระรอก



พัฒนาการลูกกระรอก






< 0 - 2 สัปดาห์


อายุ 1-3 วัน

ผิวหนัง : สีชมพู ไม่มีขน
ตา : ปิดสนิท
หู : ไม่สามารถได้ยิน
น้ำหนัก : 15 กรัม

อายุ 1 วัน - 2 สัปดาห์
ผิวหนัง : สีเทาๆ ขนอ่อนเริ่มขึ้น
ตา : เริ่มมีรอยเปิดที่ตา
หู : เริ่มเคลื่อนไหวไปตามเสียงที่ได้ยิน
 < 3 - 4 สัปดาห์
อายุ 3 สัปดาห์ - 4 สัปดาห์
ผิวหนัง : ขนเริ่มขึ้นเต็มจากหัวถึงหาง
ตา : ตาใกล้จะเปิดในกระรอกเทา และแดง กระรอกสวนบางตัวและกระแตเปิดตาในอายุ 4 สัปดาห์
หู : เริ่มได้ยินเสียงชัดมากขึ้น
ฟัน : ฟันล่างเริ่มขึ้น
 < 5 - 6 สัปดาห์
สัปดาห์ที่ 5
ผิวหนัง : ขนขึ้นเต็ม
ตา : เปิดตา
ฟัน : ฟันบนเริ่มขึ้น สามารถกัดแทะได้ที่อายุประมาณ 5 สัปดาห์
การเคลื่อนไหวและพฤติกรรม : เริ่มแทะของแข็งเอง

สัปดาห์ที่ 6
ขน : ขนที่หางขึ้นเต็ม พอง
ตา : เห็นชัดเจนมากขึ้น สามารถกะระยะจากวัตถุได้ เริ่มกระโดดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
การเคลื่อนไหวและพฤติกรรม : เดินได้คล่อง เริ่มเล่น แทะของแข็งกินได้มากขึ้น
 < 8-10 สัปดาหฺ์
อายุ 8 -10 สัปดาห์
การเคลื่อนไหวและพฤติกรรม : มีความกระตืรือร้น ซน กระโดดจากที่หนึ่ง
ไปยังอีกที่หนึ่งโดยขาหลัง ลักษณะเหมือนกระรอกโตเต็มที่แต่ขนาดเล็ก
กระรอกอายุประมาณ 10 สัปดาห์ สามารถแทะของแข็ง เช่นเมล็ดถั่วเปลืองแข็งได้
< ประมาณ 5 เดือน
อายุ 11 - 18 สัปดาห์
กระรอกในช่วงนี้จะเริ่มออกจากรัง ไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติโดยตัวเอง
ลูกกระรอกจะค่อยๆสำรวจไกลออกจากรังวันละนิด 
และกลับมายังรัง จนอายุประมาณ 18 สัปดาห์ จะไม่กลับมายังรังเดิม
และพร้อมจะหาคู่เมื่อเป็นสัด หรือถึงฤดูผสมพันธุ์

กระรอก

กระรอก
     จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  
     1.กระรอก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดลำตัวเล็ก ขนปุยปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย นัยน์ตากลมดำ หางเป็นพวงฟู จัดอยู่ในประเภทสัตว์ฟันแทะ ในวงศ์ Sciuridae
     2.กระรอกอาจแบ่งได้เป็น 3 พวกใหญ่ ๆ ได้แก่ กระรอกต้นไม้, กระรอกดิน และ กระรอกบิน
     3.วงศ์กระรอกมี วงศ์ย่อย 2 วงศ์ คือ Pteromyinae ได้แก่ กระรอกบิน และวงศ์ Sciurinae ได้แก่ กระรอกต้นไม้, กระรอกดิน, ชิพมั้งค์  ในขณะที่บางข้อมูลแบ่งเป็น 5 (ดูในตาราง)
     4.กระรอกต้นไม้ เป็นกระรอกที่มักพบเห็นได้บ่อยและคุ้นเคยกันดี มีหางยาวเป็นพวงสวยงาม มีกรงเล็บแหลมคม และมีใบหูใหญ่ บางชนิดมีปอยขนที่หู ส่วนกระรอกบินนั้น จะมีพังผืดข้างลำตัว สำหรับกางเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มักเป็นหากินในตอนกลางคืน มีตาสะท้อนแสงไฟ กระรอกดิน มักจะมีรูปร่างสั้น และล่ำสันกว่ากระรอกต้นไม้ มีขาหน้าแข็งแรงใช้สำหรับการขุดดิน หางของกระรอกดินนั้นจะสั้นกว่าหางของกระรอกต้นไม้ และไม่ฟูเป็นพวงนัก และเช่นเดียวกับสัตว์ฟันกัดแทะชนิดอื่น ๆ กระรอกจะมีนิ้วเท้าหลังข้างละ 5 นิ้ว และ นิ้วเท้าหน้าข้างละ 4 นิ้ว ตรงส่วนที่น่าจะเป็นนิ้วโป้งจะกลายเป็นปุ่มนูน ๆ ซึ่งถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับจับอาหารมาแทะ
     5.กระรอกมีขนาดใหญ่เล็กต่าง ๆ กันไปตามสายพันธุ์ และสามารถแบ่งตามขนาดได้ 3 กลุ่ม คือ ขนาดใหญ่ เช่น พญากระรอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยพบอยู่เพียง 2 ชนิด คือ พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) และพญากระรอกเหลือง (R. affinis) ซึ่งได้ถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ขนาดกลาง เช่น กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysoni) กระจ้อน (Menetes berdmorei) และ ขนาดเล็ก เช่น กระเล็น (กระถิก) (Tamiops spp.) ซึ่งเป็นกระรอกที่เล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย
กระรอกเป็นสัตว์ที่คล่องแคล่วว่องไวมาก อาหารของกระรอกคือ ผลไม้ และ เมล็ดพืช เป็นหลัก แต่กระรอกก็ยังชอบกินแมลงด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะกระรอกขนาดใหญ่อย่างพญากระรอก นั้นบางครั้งก็ยังกินไข่นกเป็นอาหารอีกด้วย
ด้วยความน่ารักของกระรอก ทำให้กระรอกหลายชนิดนิยมเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เพื่อความเพลิดเพลิน
กระรอกในไทย
  จำแนกได้ทั้งหมด 29 ชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 9 ชนิด
  กลุ่มกระรอกต้นไม้ ทั้งหมด 13 ชนิด
-พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor)
-พญากระรอกเหลือง (Ratufa affinis)
-กระรอกข้างลายท้องแดง (Callosciurus notatus)
-กระรอกข้างลายท้องเทา (Callosciurus nigrovittatus)
-กระรอกท้องแดง (Callosciurus erythraeus)
-กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysoni) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกปลายหางดำ (Callosciurus caniceps)
-กระรอกสามสี (Callosciurus prevostii) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกหางม้าใหญ่ (Sundasciurus hippurus) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกหางม้าเล็ก (Sundasciurus tenuis)
-กระรอกหางม้าจิ๋ว (Sundasciurus lowii)
-กระเล็นขนปลายหูยาว (Tamiops rodolphei)
-กระเล็นขนปลายหูสั้น (Tamiops mcclellandii)
-กลุ่มกระรอกดิน มี 4 ชนิด
-กระจ้อน (Menetes berdmorei)
-กระรอกหน้ากระแต (Rhinosciurus laticaudatus) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกลายแถบ (Lariscus insignis)
-กระรอกดินแก้มแดง (Dremomys rufigenis)
-กลุ่มกระรอกบิน มี 12 ชนิด
-พญากระรอกบินหูดำ (Petaurista elegans)
-พญากระรอกบินหูแดง (Petaurista petaurista)
-พญากระรอกบินหูดำหางเข้ม (Petaurista philippensis)
-พญากระรอกบินสีดำ (Aeromys tephomelas)
-กระรอกบินเล็กแก้มขาว (Hylopetes phayrei) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกบินเล็กเขาสูง (Hylopetes alboniger) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกบินแก้มสีแดง (Hylopetes spadiceus) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกบินแก้มเทา (Hylopetes lepidus) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
-กระรอกบินจิ๋วท้องขาว (Petinomys setosus)
-กระรอกบินจิ๋วมลายู (Petinomys vordermanni)
-กระรอกบินเท้าขน (Trogopterus pearsoni)
-กระรอกบินสีเขม่า (Pteromyscus pulverulentus) -สัตว์ป่าคุ้มครอง
     อย่างไรก็ตามการจำแนกชนิดของกระรอกบินนั้นทำได้ยาก เนื่องจากวงศ์ย่อยนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก แม้แต่ในกลุ่มนักวิชาการเองก็ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้
     นอกจากนี้แล้วยังมีสัตว์อีก 3 ชนิด ที่มีรูปร่างและลักษณะใกล้เคียงกับกระรอก จนอาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นกระรอกชนิดหนึ่งด้วย แต่ความจริงแล้ว ทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นสัตว์คนละอันดับกับกระรอกเลย ได้แก่ บ่าง (Cynocephalu variegatus) ซึ่งเป็นสัตว์ในอันดับบ่าง กระแต (Tupaiidae) เป็นสัตว์ในอันดับกระแต และ ชูการ์ไกลเดอร์ (Petaurus breviceps) หน้าตาและรูปร่างคล้ายกระรอกบินมาก แต่เป็นสัตว์ในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง